Search
Close this search box.

รถยนต์หาย…ใครจะต้องรับผิดชอบ ตอน 3

รถยนต์หาย…ใครจะต้องรับผิดชอบ

โดย นายไกรลาภ เนียวกุล

ตอน 3…

ในทางปฏิบัติ จะเห็นว่า ตามสถานที่ต่างๆ ที่เราเข้าไปจอดรถยนต์ เมื่อรถยนต์หาย เขามักอ้างว่า สถานที่ที่ให้จอดรถยนต์นั้น เขามีไว้เพื่อ
1. เป็นการอำนายความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการเท่านั้น
2. บัตรจอดรถที่จ่ายให้ ก็เป็นเพียง การช่วยรักษาความปลอดภัย
3. ค่าจอดก็เป็นเป็นค่าธรรมเนียมการจอด ไม่ใช่ค่าฝากรถยนต์ ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534

เหล่านี้ เพื่อจะเป็นการเลี่ยงว่าเขาไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่เข้าไปจอด แต่แท้ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น หากสังเกตให้ดี การที่เราได้รับบัตรจอดรถยนต์นั้น แม้จะเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยก็ตาม แต่เขาก็กำหนดหน้าที่ของเขาขึ้นมาแล้วเช่นกัน เมื่อกำหนดหน้าที่ขึ้นมา ก็ต้องลงไปดูว่า พนักงานของเขาที่มาทำหน้าที่ตรงนั้น บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ กล่าวคือ บกพร่องต่อหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ หากบกพร่อง จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน
การบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เป็นเรื่องๆ ไป ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า พนักงานของเขา ปฏิบัติหน้าอย่างครบถ้วนและไม่ได้ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์ออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสาร แต่สำหรับ คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542 ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า กลับไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า พนักงานของเขาปฏิบัติหน้าอย่างครบถ้วนและไม่ได้ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์ออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสาร เมื่อรถยนต์ของผู้เข้ามาใช้บริการหายไป เขาจึงต้องรับผิดชอบ
นอกจากนั้น เมื่ออ่านคำพิพากษาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ความระมัดระวังอย่างมากก่อนปล่อยรถ ส่วนข้อเท็จจริงตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542 ใช้ความระมัดระวังน้อยกว่า ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก มาตราการรักษาความปลอดภัยของห้างทั้งสองต่างกัน กล่าวคือ ห้างสรรพสินค้า ( รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 มีและใช้มาตรการที่รัดกุมมากกว่า ห้างสรรพสินค้า ( รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ) ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542

คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540

จำเลยจัดอาคารที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเป็นผู้เก็บกุญแจไว้โดยไม่ต้องเสียค่าจอดแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยฉีกหรือตรวจบัตรจอด รถยนต์ขณะที่นำรถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถของจำเลยนั้น เป็นเพียงมาตรการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างของจำเลยปล่อยให้รถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถโดยไม่รับบัตรจอดรถคืนนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าลูกจ้างของจำเลยได้ปล่อยรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร แต่กลับได้ความจากพยานจำเลยว่า วันเกิดเหตุมีรถยนต์ขอออกจากอาคารที่จอดรถไปโดยไม่มีบัตรจอดรถยนต์รวม 3 คัน ลูกจ้างของจำเลยได้บันทึกทะเบียนรถยนต์ บัตรประจำตัวผู้ขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชนไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่าได้ปล่อยรถคันที่โจทก์รับประกันออกไป แม้ว่า ว. พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่า เคยขับรถเข้าไปจอดในห้างของจำเลยแล้วออกไปโดยไม่คืนบัตรจอดรถ ลูกจ้างของจำเลยไม่ยอมให้ออกจนกระทั้งต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับรถให้ดูจึงจะนำรถออกไปได้ แสดงว่าลูกจ้างของจำเลยได้ตรวจสอบและปล่อยรถไปถูกต้องตามระเบียบเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเองมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542

จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการด้วย
การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

หมายเหตุ ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลดังนี้ “ … ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจะต้องรับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรผ่านมอบคืนให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออก จึงจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้ หากไม่มีบัตรผ่าน พนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออก จะต้องนำหลักฐานความเป็นเจ้าของรถยนต์และบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงจึงจะนำรถยนต์ออกไปได้รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรผ่าน และบัตรผ่านเข้าออกเอกสารหมาย ล.3 และ ล.10 แม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถยนต์เองดูแลปิดประตูรถยนต์และเก็บกุญแจรถยนต์ไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรผ่านจะมีข้อความว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ของรถยนต์ที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณลานจอดรถดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสองและเจ้าของศูนย์การค้าจัดให้มีบริการรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่จะนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารและขณะที่จะนำรถยนต์ออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และถือบัตรผ่านจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้เลย เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อนการกระทำที่ปฏิบัติก่อน ๆ มาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่จอด หรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากมีการตรวจบัตรตรงช่องทางที่รถยนต์ออกโดยเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของนายสวาทจะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปนี้เชื่อว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสวาทถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420”

พึงสังเกตว่า

1. ในกรณีละเมิดนี้ ต้องระมัดระวังไว้เช่นกันว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ดี เจ้าของสถานที่ ก็ดี ไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์คันใดคันหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หากรถยนต์ ได้รับความเสียหายกล่าวคือไม่ได้สูญหาย เช่น ถูกขีดเป็นรอย ถูกงัดรถยนต์เพื่อขโมยทรัพย์สินภายในรถยนต์ บุคคลตามที่กล่าวมาอาจไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นเดียวกัน หน้าที่โดยตรงของบุคลตามที่กล่าวมาเป็นเพียงหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น แต่หากมี เขาก็สามารถอ้างได้ว่า “ ดูแลไม่ทั่วถึง ” จึงไม่ต้องรับผิดชอบ
2. ในกรณีละเมิดนี้ หากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลักรถยนต์ไป หรือ ร่วมมือกับผู้อื่นลักรถยนต์ไปนั้น นายจ้างอาจไม่ต้องรับผิดชอบได้ เพราะทำไปในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ทำไปในทางการที่จ้าง ตามมาตรา 425
3. การละเว้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเกิดจากสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิต่างๆ ของบุคคลล ก็เป็นการละเมิดโดยการเว้นกระทำการตามหน้าที่อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
4. สำหรับสถานที่อื่นๆ ที่มีลานจอดรถยนต์ไว้ให้ หากไม่มีบัตรจอดรถยนต์ให้ มีเพียงเจ้าหน้าที่รัษาความปลอดภัย คอยอำนวยความสะดวกในการจัดการจราจรภายในสถานที่ เช่นนี้ก็เป็นยากที่จะตำหนิว่าเขาละเว้นกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ เนื่องจาก เขาไม่มีหน้าที่ใดๆ ต่อเจ้าของรถยนต์เข้าไปใช้ที่จอดรถยนต์
5. ในกรณีของ อาคารชุด ( Condominium ) จะเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ อาคารชุด พ.ศ. 2522 นิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ส่วนกลาง ( ทรัพย์ส่วนกลางเป็นของเจ้าของห้องชุดทุกคน) ที่จอดรถยนต์อาจเป็นทรัพย์ส่วนกลาง แต่เขาก็ไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของเจ้าของห้องชุด เว้นแต่มีข้อบังคับให้เขาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้ด้วย ด้วยเหตุนี้ กรณีของ อาคารชุด จึงต้องดูด้วยว่ามีข้อบังคับหรือข้อสัญญา ให้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทรับจ้างบริหารอาคารชุด กระทำอะไรบ้างนอกจากที่กฎหมายอาคารชุดกำหนดหน้าที่ไว้
6. สำหรับโรงแรมหรือสถานที่เช่นเดียวกับโรงแรม ต้องแบ่งแยกประเภทลูกค้าด้วยเนื่องจาก กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบไว้ต่างกัน โดยทั่วไป เราสามารถแบ่งแยกลูกค้าของโรงแรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้เข้ามาพักในโรงแรม กับผู้เข้ามาใช้บริการอย่างอื่นในโรงแรม
6.1 ผู้เข้ามาพักในโรงแรม (คนเดินทางหรือแขกอาศัย) ความรับผิดชอบในเรื่องนี้ กฎหมายกำหนดไว้สูงกว่าระดับปกติ กล่าวคือ เป็นความรับผิดชอบโดยเคร่งครัด ( Strict liability ) กล่าวคือ ไม่จงใจไม่ประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นหากรถยนต์สูญหาย หรือเสียหาย เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดชอบ เว้นแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ ( มาตรา 674 -675 )
แต่พึงสังเกตว่า
ก. ความรับผิดชอบเช่นนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบทางละเมิด แต่เป็นความรับผิดชอบเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ตามกฎหมาย อันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมายอย่างหนึ่ง
ข. บุคคลที่ต้องรับผิดชอบมีแต่เฉพาะ เจ้าสำนักโรงแรม ผู้ต้องเสียหายก็ต้องเป็นเฉพาะ คนเดินทางหรือแขกอาศัย เท่านั้น
ค. ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใด ผู้ต้องเสียหายดังกล่าวอาจเรียกร้องภายใต้ละเมิดก็ได้
6.2 ผู้เข้ามาใช้บริการอย่างอื่นในโรงแรม บุคคลเหล่านี้เช่น ผู้เข้าสัมมนา เข้าไปรับประทานอาหาร หรือ งานเลี้ยง เป็นต้น การวินิจฉัยจะต้องใช้กฎหมายละเมิดตามที่กล่าวมาเป็นหลัก เว้นเสียแต่ว่า มีพฤติการณ์อื่นให้ปรากฏว่าเป็นการฝากทรัพย์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของละเมิด อนึ่งบุคคลตามข้อ 6.2 นี้ ไม่อาจอ้าง มาตรา 674-675 มาใช้บังคับให้เจ้าสำนักโรงแรมให้ต้องรับผิดชอบได้ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายตามข้อ 6.1

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2. คำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่แสดงข้างต้นมาจาก
2.1 ระบบสืบค้นคำพิพากษาฎีกา http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp ยกเว้น คำพิพากษาฎีกาที่ 949/2518
2.2 รศ.ดร. ไผทชิต เอกจริยกร ,( ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ) คำอธิบายกฎหมาย จ้างแรงงาน…ฝากทรัพย์…., กรุงเทพฯ,วิญญชน , 2540 ( ยกเว้น ข้อ 2.3 และ ข้อ 2.4 ข้างล่าง )
2.3 คำพิพากษาฎีกาที่ 925/2536 , คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534
ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 (เล่ม 2) มาตรา 575 ถึงมาตรา 701 , สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , จิรรัชการพิมพ์ , 2542 และ
2.4 คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540
ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 (เล่ม 3 ) มาตรา 386 ถึงมาตรา 452 , สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรรัชการพิมพ์ , 2541

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียนซึ่งสถาบันฯทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ให้แก่ผู้อ่าน หรือผู้สนใจเท่านั้น สถาบันฯไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของบทความนี้

แบ่งปันบทความนี้