Search
Close this search box.

รถยนต์หาย…ใครจะต้องรับผิดชอบ ตอน 1

รถยนต์หาย…ใครจะต้องรับผิดชอบ

โดย นายไกรลาภ เนียวกุล

ปัญหาในเรื่องการสูญหายของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ตามลานจอดรถยนต์หรืออาคารจอดรถยนต์ของสถานที่หรือสถานประกอบการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มีบางท่านกล่าวว่า เจ้าของสถานที่ รวมทั้ง บริษัทรักษาความปลอดภัย ต้องรับผิดชอบ บางท่านก็ว่าไม่ต้องรับผิดชอบ บางท่านก็ว่า ถ้าเสียค่าจอด และมีบัตรจอด เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ แต่หากไม่เสียค่าจอดไม่ว่าจะมีบัตรจอดหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ บางท่านไปไกลกว่านั้นอีก โดยเฉพาะกรณีห้างสรรพสินค้านั้น หากรถยนต์หายให้เข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้านั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราได้ใช้บริการ และเขาต้องรับผิดชอบ
คำกล่าวเหล่านั้นดูจะสับสนและคลุมเครือกันอยู่ หาข้อสรุปไม่ได้ว่า ตกลงแล้วใครจะรับผิดชอบ หรือจะเป็นบาปเคราะห์ของเจ้าของรถยนต์นั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอเสนอความเห็นในเรื่องนี้ โดยการวิเคราะห์ ไปตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเท่าที่ค้นพบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้คงจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย.

การที่เราจะพิจารณาว่า เจ้าของสถานที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมายหรือไม่ จะต้องดูกฎหมายอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

1. กฎหมายสัญญา ได้แก่ สัญญาฝากทรัพย์ และ สัญญาเช่าทรัพย์ ( เช่าที่จอดรถยนต์ )
2. กฎหมายละเมิด

1. สัญญา

1.1 สัญญาเช่าทรัพย์
มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
จะเห็นว่า สัญญาเช่าทรัพย์นี้ ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่า ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลทรัพย์ที่ตนเช่าเพราะผู้เช่าได้สิทธิครอบครองในทรัพย์ที่เช่า เช่น กรณีให้เช่าที่จอดรถยนต์ ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลที่จอดรถยนต์ของผู้ให้เช่า ในทางกลับกัน ผู้ให้เช่าไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ในที่นี้คือ รถยนต์ของผู้เช่าพื้นที่แต่อย่างใด เพราะผู้เช่าไม่ได้โอนสิทธิครอบครองในรถยนต์ ( ส่งมอบรถยนต์ )มาให้ผู้ให้เช่าดูแล หากโอนสิทธิครอบครองมา ก็ไม่ใช่สัญญาเช่า แต่จะเป็นสัญญาฝากทรัพย์

1.2 สัญญาฝากทรัพย์
มาตรา 657 อันฝากทรัพย์นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนและจะคืนให้

ลักษณะสำคัญของสัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 ดังกล่าวนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ

ก. ผู้ฝากจะต้อง “ โอนสิทธิครอบครอง ” ในตัวทรัพย์ให้แก่ ผู้รับฝาก หากไม่มีการโอนสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์กันแล้ว สัญญาฝากทรัพย์เกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้รับฝากต้องมีสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์ และ
ข. หน้าที่ของผู้รับฝากก็คือต้องใช้ความระมัดระวังทรัพย์ที่รับฝากไม่ให้สูญหายหรือบุบสลาย หน้าที่ดังกล่าวนี้อยู่ในมาตรา 659 ซึ่งกฎหมายวางระดับความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากไว้ไม่เท่ากัน ขึ้นกับข้อเท็จจริงในขณะที่ฝากกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ขอกล่าวเนื่องจากมีรายละเอียดที่มากเกินไป และต้องใช้การอธิบายกันเป็นอย่างมาก
เมื่อหน้าที่ของผู้รับฝากเป็นเรื่องของการใช้ความระมัดระวัง ( Obligation of care or of prudent หรือ Duty of care ) กรณีการจอดรถยนต์ในลานจอดรถยนต์ตามสถานที่ต่างๆ หรือ สถานประกอบการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เป็นต้น (ยกเว้นกรณีของเจ้าสำนักโรงแรม) นั้น อย่างไร หรือ เมื่อไร ที่จะเรียกได้ว่า ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถยนต์ได้ทำการส่งมอบรถยนต์ให้อยู่ในอารักขาของสถานประกอบการ หรือ เจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น กล่าวคือ อย่างไร หรือเมื่อไร จึงจะเรียกได้ว่ามีการโอนสิทธิครอบครองให้แก่กัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก และก่อให้เกิดความสับสนกันเป็นอย่างมาก
จากการศึกษาตามหลักวิชาการทางกฎหมาย รวมทั้งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้เขียนขอตั้งประเด็นการวิเคราะห์ ดังนี้ คือ ถือเอาการส่งมอบกุญแจเป็นหลัก ก. ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาฝากทรัพย์

คำพิพากษาฎีกา 932/2517
คนของโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์ไปฝากที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 4 ได้มอบกุญแจรถยนต์ให้ไว้ คนของจำเลยที่ 4 ได้นำรถยนต์ของโจทก์เข้าไปเก็บไว้ในที่เคยเก็บรถยนต์ ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานาน การกระทำดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยได้ตกลงรับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้ในอารักขาของตนแล้วตลอดเวลาที่รถยนต์ของโจทก์อยู่ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย อำนาจการครอบครองรถยนต์ของโจทก์ตกอยู่กับจำเลยที่จะจัดการเกี่ยวกับรถยนต์นั้นได้ทุกเมื่อ จนกว่าโจทก์จะมารับรถยนต์คืนไป และเป็นสัญญารับฝากรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์เป็นเงินตอบแทนจึงเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่สัญญาเช่าที่จอดรถไม่ หมายเหต บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการ ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางสถาบันไม่รับผิดชอบใดใด

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการส่งมอบกุญแจมีดังนี้

หมายเหตุ ตามคำพิพากษานี้ จำเลยอ้างว่าเป็นการเช่าพื้นที่จอดรถยนต์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครอง แต่มีการฝากกุญแจกันด้วย รวมทั้งเสียค่าบริการ ศาลจึงฟังว่าเป็นฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก ไม่ใช่เช่าทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 2004/2517
ผู้จัดการจำเลยเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล อนุญาตให้โจทก์จอดรถที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย. แม้จำเลยจะไม่ได้รับบำเหน็จตอบแทนก็หาพ้นจากความรับผิดในฐานเป็นผู้รับฝาก ไม่
คนงานของจำเลยให้รถที่โจทก์ฝากแก่คนอื่นไปโดยมิได้ตรวจดูหนังสือที่มีผู้นำมาขอรับรถให้ดีเสียก่อนว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์หรือไม่ ทั้งๆ ที่คนขายน้ำมันของจำเลยจำลายมือโจทก์ได้ ดังนี้ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยต้องรับผิดใช้คืนแก่โจทก์

หมายเหตุ การฝากทรัพย์ ตามสัญญาฝากทรัพย์นั้นไม่จำเป็นต้องมีบำเหน็จค่าฝากก็ได้ ( โปรดดูมาตรา 659 วรรคแรก ประกอบ แต่ เช่าทรัพย์ต้องมีค่าเช่าเสมอ มิเช่นนั้นไม่เป็นเช่าทรัพย์ )

คำพิพากษาฎีกาที่ 365/2521
นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันโดยมอบกุญแจรถแก่ลูกจ้างเจ้าของปั๊มจอดไม่ประจำที่ แม้มีประกาศไว้ที่ปั๊ม และในใบเสร็จระบุว่าเป็นเรื่องให้เช่าสถานที่จอดรถก็ไม่หักล้างการปฏิบัติซึ่งเป็นการฝากทรัพย์

หมายเหตุ ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ บันทึกหมายเหตุท้ายฎีกานี้ว่า “ หลักวินิจฉัยของศาลคือมีการส่งมอบทรัพย์ที่ฝากแก่ผู้รับฝาก จึงเป็นฝากทรัพย์ตาม ม.657 มิใช่เช่าที่จอดรถ การส่งมอบทรัพย์คือมอบกุญแจสำหรับรถ ”

คำพิพากษาฎีกาที่ 925/2536
จำเลยที่ 1 จัดบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ต้อนรับ เอากุญแจรถยนต์ขับรถยนต์เข้าที่จอด และเคลื่อนย้ายรถยนต์หากมีรถยนต์คันอื่นเข้าออกในบริเวณภัตตาคาร ออกใบรับที่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรับกุญแจรถยนต์ของโจทก์เก็บไว้ ถือได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากจะต้องดูแลระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตนเอง เมื่อรถยนต์โจทก์ที่นำมาฝากเพื่อรับประทานอาหารในภัตตาคารของจำเลยที่ 1 หายไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้ดูแลหรือใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ข. ไม่มีการส่งมอบกุญแจแต่เป็นสัญญาฝากทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 949/2518
โจทก์นำรถยนต์บรรทุกเล็กไปจอดที่ปั๊มของจำเลยที่มีบริการคิดค่าจอดเดือนละ 80 บาท ผู้นำรถมาจอดใส่กุญแจรถถือกลับไป แต่ปล่อยห้ามมือไว้เพื่อเข็นย้ายได้ รถของโจทก์หายไป โจทก์จึงฟ้องเรียกราคากับค่าเสียหายในการจ้างรถอื่นมาใช้แทน พฤติการณ์เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าการบริการเช่นนี้ของจำเลยเป็นการรับฝากรถ หาใช่ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์ไม่ จำเลยจึงต้องมีความระมัดระวังเท่าที่จะต้องใช้ในการประกอบการค้านั้น การที่ลูกจ้างของจำเลยไปทำธุระที่อื่นนั้นก็ควรจะจัดผู้อื่นดูแลแทน เมื่อรถยนต์หายไปในระหว่างนั้นเป็นการไม่ระมัดระวังดูแลรถยนต์เท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายคือราคารถที่ใช้มาแล้วเป็นเงิน 30,000.00 บาท และยังมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ได้อีก ตามมาตรา 222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์ต้องจ้างรถยนต์คันอื่นบรรทุกผักแทน เป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามปกติที่เคยใช้

หมายเหตุ ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวน่าจะเป็นว่าศาลได้ฟังพยานหลายปาก และเชื่อในคำของพยานว่า พฤติกรรมของจำเลยที่แสดงออกต่อผู้ใช้บริการเป็นเรื่องของการฝากทรัพย์ กล่าวคือ ฝากรถยนต์ ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาอีก 2 ฉบับ ที่อ้างถึง พฤติกรรมของจำเลย ( ในเนื้อหาไม่ปรากฏว่ามีการส่งมอบกุญแจหรือไม่) ได้แก่ คำพิพากษาฎีกาที่ 475/2522 และ คำพิพากษาฎีกาที่ 331/2524

คำพิพากษาฎีกาที่ 475/2522
ปั๊มของจำเลยปฏิบัติต่อลูกค้ามีพฤติการณ์แสดงว่า จำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มน้ำมันจึงเป็นลักษณะฝากทรัพย์ ตามมาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถ

คำพิพากษาฎีกาที่ 331/2524
การที่จำเลยยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถเข้าไปจอดบริเวณปั๊มน้ำมันของจำเลยโดยปั๊มได้รับเงินค่าจอดเป็นประโยชน์ตอบแทน เมื่อปั๊มปิดจะมีรั้วเหล็กปิดกั้นหน้าปั๊มไว้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าทางปั๊มได้รับมอบทรัพย์สินไว้เพื่อดูแลเก็บรักษาไว้ในอารักขาของตนเป็นการรับฝากทรัพย์ตามป.พ.พ. มาตรา 657 แม้ทางปั๊มจะมีประกาศว่าให้เช่าเป็นที่จอดรถรวมทั้งระบุข้อความในใบรับเงินและเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งไม่ต้องรับผิด ก็เป็นการกระทำของจำเลยฝ่ายเดียว บุคคลภายนอกมิได้มีข้อตกลงตามนั้น อันจะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ไปในรูปลักษณะของนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งมิใช่ลักษณะของการฝากทรัพย์

หมายเหตุ ศาลฎีกากล่าวไว้ตอนหนึ่งในคำพิพากษาว่า “ ….ทางปั๊มจะเป็นผู้ชี้บริเวณที่จะจอดและว่าเมื่อปั๊มปิดจะมีรั้วเหล็กปิดกั้นหน้าปั๊มใส่กุญแจมีคนประจำเฝ้าปั๊มไว้ด้วย ซึ่งแสดงว่าการนำรถเข้าจอดภายในอาณาบริเวณปั๊ม ทางปั๊มมิได้กำหนดสถานที่ที่จอดรถของแต่ละคันให้เป็นที่แน่นอนตายตัว แล้วแต่ทางปั๊มจะกำหนดสถานที่ให้จอดเป็นคราว ๆ และชอบที่จะเคลื่อนย้ายรถที่จอดได้ตามควรแก่กรณี ซึ่งตามทางปฎิบัติและพฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าทางปั๊มได้รับมอบทรัพย์สินไว้เพื่อดูแลเก็บรักษาไว้ในอารักขาแห่งตน อันเป็นการรับฝากทรัพย์ ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับตัวรถก็ดี ทางปั๊มมีป้ายประกาศว่าให้เช่าเป็นที่จอดรถก็ดีรวมทั้งได้ระบุข้อความในใบรับเงินและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องรับผิดตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ดี เห็นว่าเป็นการกระทำของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวบริษัทขวัญใจภาพยนต์ จำกัด มิได้มีข้อตกลงตามนั้น อันจะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ไปในรูปลักษณะของนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการรับฝากทรัพย์ดังจำเลยอ้าง… ”

ค. ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2521
โจทก์จอดรถยนต์ที่สถานีบริการน้ำมันของจำเลย มอบกุญแจรถแก่คนของจำเลย โดยมีป้ายและใบเสร็จรับเงินข้อความว่า เช่าสถานที่ ไม่รับผิดในทรัพย์สูญหาย เจตนาของคู่กรณีไม่ใช่เรื่องฝากทรัพย์ กุญแจที่มอบเพื่อเคลื่อนย้ายรถ ไม่ใช่มอบให้ครอบครอง

หมายเหตุ คดีนี้แม้ส่งมอบกุญแจ แต่เป็น เช่าที่จอดรถเนื่องจาก โจทก์ ตกลงในเรื่องเช่าทรัพย์ ดังที่ศาลฎีกาอธิบายไว้ตอนหนึ่งดังนี้ “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ของโจทก์หายไปจากที่จอดรถภายในปั๊มน้ำมันของจำเลย ตามประเด็นเรื่องฝากทรัพย์มีปัญหาพิจารณาในเบื้องต้นว่าเมื่อโจทก์นำรถเข้ามาจอดในสถานที่จอดรถภายในปั๊มน้ำมันจำเลยนั้น โจทก์ได้รับทราบข้อตกลงจากจำเลยว่าเป็นการเช่าสถานที่ไว้จอดรถ และเรื่องที่จำเลยไม่รับผิดในความเสียหาย สูญหายของทรัพย์สินในที่เช่าดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ พิเคราะห์แล้วในเรื่องฝากรถไว้กับจำเลย คงมีแต่ตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าได้นำรถมาฝากไว้กับจำเลย เมื่อรถหายไปจำเลยต้องรับผิด แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพฤติการณ์ของโจทก์เองเช่น โจทก์นำรถมาจอดในปั๊มน้ำมันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนรถหาย โจทก์ได้เห็นมีป้ายขนาดใหญ่ตามภาพถ่ายที่จำเลยอ้างประกอบแสดงไว้ในปั๊ม โจทก์ได้รับใบเสร็จรับเงินจากจำเลยตามที่อ้างประกอบ และโจทก์ยังได้ลงชื่อไว้ในใบเสร็จรับเงินหมาย ล.5 ซึ่งเป็นคู่ฉบับกับใบเสร็จหมาย จ.8 ประจำเดือนสิงหาคม 2517 ในใบเสร็จดังกล่าวมีข้อความแสดงไว้ชัดแจ้งว่าเป็นเรื่องเช่าสถานที่จอดรถ และไม่รับผิดในทรัพย์สินสูญหายเสียหายของจำเลย จึงเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อโจทก์นำรถเข้ามาจอดในปั๊มน้ำมันจำเลยนั้น โจทก์ได้รับทราบเงื่อนไขและได้ตกลงกันให้เป็นการเช่าสถานที่ตามที่จำเลยได้แบ่งเป็นช่อง ๆ ไว้ ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ และจำเลยไม่รับผิดในการเสียหายสูญหายของทรัพย์สินในสถานที่เช่า เมื่อเจตนาของคู่กรณีประสงค์ให้เป็นเรื่องเช่าดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่ารถและค่าเสียหายตามฟ้อง เพราะรถยนต์หายไปไม่ได้เกิดจากความผิดของฝ่ายจำเลยที่โจทก์อ้างอีกประการหนึ่งว่าโจทก์ได้มอบลูกกุญแจรถดอกหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ประจำปั๊มน้ำมันจำเลยเก็บรักษาไว้จึงถือว่าเป็นการมอบรถให้อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า โจทก์เป็นผู้ปิดประตูรถใส่กุญแจและเก็บรักษากุญแจรถอีกดอกหนึ่งไว้ การกลับมาเอารถไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอกุญแจจากเจ้าหน้าที่คืนหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ก่อน แสดงว่ารถยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ฉะนั้นการส่งมอบกุญแจรถให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลย น่าเชื่อว่าเพื่อใช้เคลื่อนย้ายหรือล้างรถเป็นครั้งคราว ยังไม่ถือว่าเป็นการมอบรถให้อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยซึ่งจะถือว่าเป็นการรับฝากทรัพย์…”
โปรดติดตาม ตอน2

หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของข้อเขียนชิ้นนี้

แบ่งปันบทความนี้