Search
Close this search box.

การบริหารความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยง คือ การเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องผู้คน และทรัพย์สินจากความเสี่ยงแท้จริง คำว่า บริหาร ใน การบริการความเสี่ยง เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ในบริบทเดียวกันกับการบริหารทางการเงิน การบริหารทางการตลาด และการบริหารทรัพยากรบุคคล เดิมการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวข้องเฉพาะแต่ความเสี่ยงแท้จริง ปัจจุบัน คำนี้ถูกใช้โดยหมายรวมไปถึงกระบวนการการจัดการความเสี่ยงแบบเสี่ยงโชคด้วย เช่น ความเสี่ยงด้านการลงทุน ความเสี่ยงจากหนี้เสีย เพื่อป้องกันความสับสนจึงเรียกว่า “การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน”   ซึ่ง หากจะกล่าวเฉพาะการบริหารความเสี่ยงตามความหมายดั้งเดิม จะเป็นการระบุอย่างชัดเจน เป็นการวัด การประเมิน และการปฏิบัติแก้ไข ต่อการเผชิญกับแนวโน้มความสูญเสียในความเสี่ยงแท้จริง

กระบวนการบริหารความเสี่ยง 6 ขั้น

 srcset=

1.ตั้งวัตถุประสงค์การบริหารความเสี่ยง ต้องให้แน่ชัดในวัตถุประสงค์การบริหารความเสี่ยงของปัจเจกบุคคล หรือธุรกิจ แบ่งออกเป็น วัตถุประสงค์ก่อนการสูญเสีย และวัตถุประสงค์หลังสูญเสีย

ก่อนการสูญเสีย คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการรบกวน และสามารถทำตามพันธะผูกพันภายนอกได้ โดยการประเมินราคาโดยรวมด้านความมั่นคง รวมไปถึงเบี้ยประกันภัยในปัจจุบัน และต้นทุนอื่น ๆ ที่ใช้จัดการรับมือความสูญเสีย ระบุความเสี่ยงที่เป็นไปได้ และเสนอแผนเพื่อลดการสูญเสีย เพื่อให้บรรลุภาระผูกพันที่มีต่อข้อบังคับกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก เช่น ข้อกำหนดของธนาคารสำหรับลูกค้า คือต้องซื้อการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ชนิดลดทุนประกัน (Mortgage Reducing Term Assurance) นักวางแผนการเงินต้องแน่ใจว่าแผนดังกล่าวได้จัดเตรียมไว้แล้ว

หลังสูญเสีย สิ่งที่ห่วงมากที่สุดคือ การตอบสนองความจำเป็นประจำวันหลังการสูญเสีย รวมถึงการมีบ้านอยู่อาศัย และมีเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายเพียงพอ

 srcset=

2. การรวบรวมข่าวสารข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ เพื่อระบุโอกาสเสี่ยงต่อความสูญเสีย ต้องถูกปฏิบัติอย่างถี่ถ้วน รวบรวมอย่างมีแบบแผน เพื่อวิเคราะห์อย่างถูกต้องแม่นยำต่อโอกาสที่จะประสบการสูญเสีย 3 ลำดับขั้น คือ การสูญเสียทางทรัพย์สิน ต่อความรับผิดชอบ และการสูญเสียส่วนบุคคล ไม่ว่าจะโดยทางตรงและทางอ้อม เนื่องมาจากความเป็นไปได้ของความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทรัพย์สินถูกทำลาย หรือ สูญหายไปจากการครอบครอง กระบวนการรวบรวมข่าวสารข้อมูลอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • การพูดคุยกับบุคคลเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน เป้าหมายส่วนตัว สมบัติ และทรัพย์สินของเขา
  • ให้ลงรายละเอียดข้อมูลด้านทรัพย์สิน และแหล่งรายได้อย่างละเอียดครบถ้วน
  • ข้อมูลด้านความคุ้มครองทรัพย์สิน และด้านการประกันชีวิต

 srcset=

3. วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุการประเมินความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความตระหนักในความเสี่ยง ซึ่งสามารถสร้างความเสียหาย วัดและประเมินค่าความน่าจะเป็นของความสูญเสีย และผลกระทบทางการเงิน วิธีการระบุความเป็นไปได้ของความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ โดยการทำตารางผลกระทบต่อความเสี่ยงอย่างมีแบบแผน โดยการจัดลำดับขั้นของการสูญเสียว่า ต่ำสุด ปานกลาง หรือรุนแรง มีดังนี้

    • การพูดคุยกับลูกค้า เช่น เงินเดือนของเขาเป็นแหล่งรายได้แหล่งเดียวของทั้งครอบครัว เพราะฉะนั้น การเสียชีวิต หรือทุพพลภาพของเขาจะนำมาซึ่งผลของการลดลงอย่างรุนแรงในมาตรฐานการครองชีพของครอบครัว
    • การสังเกตทางกายภาพ บ้านอาจตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ น้ำอาจท่วมแบบฉับพลันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านและทรัพย์สิน
    • ข้อมูลในแบบค้นหาข้อเท็จจริง อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ ทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของอยู่ การเสียชีวิตอาจนำมาซึ่งมรดกหนี้สินที่ต้องจ่ายคืน
    • ความคุ้มครองด้านการประกันชีวิตในปัจจุบัน เพียงพอสำหรับคุ้มครองรายได้ของเขาหรือไม่ หากมีเพียง 30 % ของรายได้ และเขาเสียชีวิต ประกันชีวิตของเขาจะไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว

4. การจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยง พิจารณาเทคนิควิธีการบริหารความเสี่ยงเลือกที่เหมาะสมต่อความเสี่ยงแต่ละชนิด เทคนิคดังกล่าวอาจเป็น การหลีกเลี่ยงความเสียง การควบคุมความเสี่ยง การคงความเสี่ยง หรือ การถ่ายโอนความเสี่ยง

 srcset=

5. การนำแผนการบริหารความเสี่ยงไปใช้งาน

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มี 4 วิธีการคือ

  • การขจัด หมายถึง เกี่ยวข้องกับการขจัดต้นตอของความเสี่ยง
  • การทดแทน หมายถึง การทดแทนสิ่งหนึ่งด้วยอีกสิ่งหนึ่ง
  • การแยก หมายถึง การแยกส่วนของกิจกรรม หรือ สิ่งของเพื่อทำให้แนวโน้มของอันตรายถูกแยกออกจากกัน
  • การวางแผนอย่างมีเหตุผล มุ่งไปยังการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบางอย่างผ่านทางเลือกต่าง ๆ

การควบคุมความเสี่ยง (การสูญเสีย) ทำได้ 2 รูปแบบ คือ

  • การป้องกันความสูญเสีย เพื่อลดความน่าจะเป็นของความเสี่ยงใด ๆ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
  • การลดความสูญเสีย เพื่อลดทอนความรุนแรงของความสูญเสียต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้

การคงความเสี่ยง บุคคลจำเป็นต้องแบกรับความสูญเสีย วิธีการจัดหาเงินสำหรับความสูญเสียอาจเป็นการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อวัตถุประสงค์นี้

การถ่ายโอนความเสี่ยง บนพื้นฐานการประกันภัย เป็นวิธีที่ดีที่สุด หากเป็นความเสี่ยงแท้จริง การถ่ายโอนความเสี่ยงของการสูญเสียรายได้อันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือความตายไปสู่บริษัทประกันชีวิต ด้วยการทำประกันชีวิตตนเอง เจ้าของธุรกิจถ่ายโอนความเสี่ยงในธุรกิจด้วยการประกันภัยสิ่งของต่อการสูญเสียทางการเงิน

 srcset=

6. การเฝ้าติดตามและการทบทวนแผนการบริหารความเสี่ยง การปรับแต่งให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงหากจำเป็นตามสถานการณ์ เช่น รายได้เพิ่ม ระดับหนี้พิ่ม การเปลี่ยนงานไปอยู่ในที่ที่มีระดับความเสี่ยงแตกต่างออกไป

การประกันภัยในฐานะเทคนิคการบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามแผน การควบคุมการสูญเสีย และแผนการใช้เงินด้านการสูญเสียซึ่งได้กำหนดมาแล้ว เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่ลูกค้าต้องเผชิญ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ตรงต่อความจำเป็นของเขาตามความเสี่ยงตามที่วัดและประเมินค่าระดับความรุนแรงไว้แล้ว โดยอาจกำหนดตารางแผนการประกันตามลำดับกรมธรรม์ประเภทต่าง ๆ เช่น

  • ตามความจำเป็น เช่น สิ่งที่ปกป้องการสูญเสียขนาดใหญ่ ซึ่งไม่อาจแบกรับได้ และตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น การประกันภัยรถยนต์บุคคลที่สาม
  • ประกันภัยที่เป็นความต้องการ หรือ ที่สำคัญ ปกป้องจากโอกาสการประสบความสูญเสียที่อาจทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องพึ่งพาแหล่งเงินเพื่อจ่ายค่าทดแทนความสูญเสีย
  • การประกันภัยที่สามารถหาได้ หรือ ประกันภัยทางเลือก ปกป้องจากความสูญเสียซึ่งสามารถได้รับความคุ้มครอง โดยใช้ทรัพย์สิน หรือ รายได้ในปัจจุบัน

หลุมพรางทั่วไปที่ควรหลีกเลี่ยง

  • การซื้อความคุ้มครองน้อยเกินไป เช่น หากผู้หาเลี้ยงครอบครัวสร้างความคุ้มครองให้ตนเองด้วยทุนประกัน 400,000.-บาท แต่ความจำเป็นที่แท้จริงสำหรับภาระความรับผิดชอบ และการสูญเสียรายได้ของเขาคือ 5,000,000.- บาท
  • การซื้อความคุ้มครองมากเกินไป เป็นผลทำให้เกิดความสูญเปล่าของทรัพยากรทางการเงิน
  • พลาดการซื้อความคุ้มครองหลัก ตกหล่นความคุ้มครอง หรืออาจซื้อมากเกินไปแบบหนึ่ง และน้อยเกินไปในแบบอื่น

***ฉบับต่อไปพบกับ การเปิดสู่ความเสี่ยง การวิเคราะห์ความจำเป็น และการกำหนดเบี้ยประกันภัย***

แบ่งปันบทความนี้