เคาะมาตรการรับนักท่องเที่ยว! ยึดเท่าเทียมทุกชาติ หากประเทศใดมีเงื่อนไขตรวจ PCR ก่อนกลับ ต้องซื้อประกันสุขภาพครอบคลุมโควิด 19

เคาะมาตรการท่องเที่ยว ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

เคาะมาตรการรับนักท่องเที่ยว ยึดหลักเท่าเทียมทุกชาติ ผู้เดินทางต้องรับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 2 เข็ม หากประเทศต้นทางมีเงื่อนไขผลตรวจ RT- PCR เป็นลบก่อนกลับ ต้องซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคโควิด 19 เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระ

ขณะที่กรมควบคุมโรคจะเฝ้าระวังการป่วยของนักท่องเที่ยวและสายพันธุ์โควิดร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยันระบบสาธารณสุขมีความพร้อม แนะประชาชนผู้ประกอบการไทยรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมความพร้อมรับผู้เดินทางเข้าประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ร่วมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และกรุงเทพมหานคร

นายอนุทินแถลงภายหลังการประชุม ว่า ตั้งแต่เปิดประเทศมีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ สายการบินมีคนเดินทางมากขึ้น 80% ทำให้ธุรกิจต่างๆ การจ้างงานพลิกฟื้นกลับมามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) การควบคุมป้องกันโรคติดต่อกลับมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งต้องประสานความร่วมมือดำเนินงานจากทุกฝ่าย

โดยการประชุมวันนี้สืบเนื่องมาจากหลังวันที่ 8 มกราคม 2566 ทางการจีนจะเริ่มอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรวมถึงจีน

โดยคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่มีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์และหลายๆ หน่วยงาน มีความเห็นตรงกันให้ปฏิบัติตามแนวทางโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีแผนเตรียมความพร้อมหากการระบาดของโรครุนแรงเพิ่มขึ้น

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการรับนักท่องเที่ยว โดยมาตรการด้านสาธารณสุข คือ ก่อนเข้าประเทศไทย ให้นักเดินทางฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 2 เข็ม

หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเพื่อลดการแพร่โรค และหากประเทศใดมีข้อกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนกลับเข้าประเทศ ต้องให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคโควิด 19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหากตรวจพบเชื้อหรือป่วย

ส่วนมาตรการขณะพำนักในประเทศไทย แนะนำให้ผู้เดินทางป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK

และหากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาล กรณีเดินทางออกจากประเทศไทยและประเทศปลายทางมีนโยบายตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ แนะนำให้พักในโรงแรม SHA+

ซึ่งจะมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นอกจากนี้ จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อปรับมาตรการตามสถานการณ์ความเสี่ยง

เช่น อัตราการติดเชื้อสูง หรือ พบเชื้อกลายพันธุ์ด้วย โดยจะมีการเฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน กำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโควิด 19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน

ทั้งนี้ จะมีการสื่อสารถึงนักเดินทางเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และเพิ่มความร่วมมือในการลดความเสี่ยงแพร่โรค

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการเตรียมความพร้อมในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ได้ให้เพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งสถานพยาบาลและ Hospitel เพื่อรองรับผู้ที่มีผลตรวจพบเชื้อโควิด 19

และขอความร่วมมือให้ผู้บริการในอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวและคมนาคมเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบ 4 เข็ม เพื่อความปลอดภัย เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในเวลานี้ แต่ยังคงพบผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่

โดยข้อมูลวันที่ 25-31 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยปอดอักเสบ 529 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 352 ราย และผู้เสียชีวิต 75 ราย (เฉลี่ย 10 รายต่อวัน) ซึ่งผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 607 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไปดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต

อ.ฉัตรชัย​ ผาสุขธรรม​ / เขียนบทความ

แบ่งปันบทความนี้