รถยนต์หาย…ใครจะต้องรับผิดชอบ ตอน 2

โดย นายไกรลาภ เนียวกุล

ตอน 2…

ง. ไม่ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 286/2525

เช่าสถานที่สถานีบริการน้ำมันจอดรถ โดยนำรถเข้าไปจอดเองแล้วนำกุญแจรถกลับไปด้วย ต้องดูแลรับผิดชอบรถเองโดยจำเลยจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการจอดรถ ทั้งยังมีข้อตกลงกันว่าให้เช่าเฉพาะที่จอดรถไม่รับผิดชอบในการที่รถสูญหายหรือเสียหายด้วยใบเสร็จรับเงินที่ออกให้ก็เขียนไว้ทุกฉบับว่า เป็นค่าเช่าที่จอดรถ ดังนี้ ข้อตกลงและพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างจำเลยกับ ว. เป็นเรื่องให้เช่าที่จอดรถ จำเลยมิได้รับมอบรถเพื่อเก็บรักษาไว้ในอารักขาแห่งตนจึงไม่เป็นการรับฝากทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายเกี่ยวกับรถที่สูญหาย

หมายเหตุ ศาลฎีกาให้เหตุผลดังนี้ “ …ส่วนในปัญหาที่ว่าเป็นการรับฝากรถหรือให้เช่าที่จอดรถนั้นฟังได้ว่านายวีระยุทธตกลงกับจำเลยที่ 1 เช่าสถานที่บริการน้ำมันจอดรถโดยนายวีระยุทธหรือลูกจ้างนำรถเข้าไปจอดเอง ปิดกระจก ใส่กุญแจ ประตูรถเองทุกครั้ง แล้วนำกุญแจกลับไปด้วย ต้องดูแลรับผิดชอบรถเอง ถ้าจอดเกะกะจำเลยที่ 1 จะให้คนโทรศัพท์ให้ไปจอดให้เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ไม่จัดการจอดรถให้ ไม่รับฝากกุญแจรถและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจอดรถ ทั้งยังมีข้อตกลงกันอีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เช่าเฉพาะที่จอดรถ จะไม่รับผิดชอบในการที่รถสูญหายหรือเสียหายด้วย ใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่นายวีระยุทธก็เขียนไว้ชัดเจนทุกฉบับว่าเป็นค่าเช่าที่จอดรถ ดังนั้นข้อตกลงและพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวีระยุทธ จึงเป็นเรื่องเช่าที่จอดรถ จำเลยที่ 1 มิได้รับมอบรถเพื่อเก็บรักษาไว้ในความอารักขาแห่งตนอันเป็นการรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเกี่ยวกับรถที่สูญหายนี้ต่อนายวีระยุทธหรือต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากนายวีระยุทธ… ”

คำพิพากษาฎีกาที่ 847/2525

เจ้าของนำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยใส่กุญแจประตูรถยนต์ แล้วนำกุญแจติดตัวไปตามข้อความในใบเสร็จรับเงินที่ลงชื่อรับทราบ และยังมีข้อความต่อไปว่าทางร้านให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถ และสิ่งของใดๆ ที่มีอยู่ในรถ ทั้งมิได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแล้วจะคืนให้ ดังนี้มิใช่สัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นเช่าที่จอดรถยนต์

หมายเหตุ ศาลฎีกาให้เหตุผลดังนี้ ” ….ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายเสรี ปิยะธาราธิเบศร์ เช่าสถานที่ในปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ ไม่ใช่ให้จำเลยดูแลรักษารถยนต์ นายเสรี ปิยะธาราธิเบศร์เจ้าของรถยนต์เป็นผู้นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยได้ใส่กุญแจประตูรถยนต์ แล้วนำกุญแจติดตัวไปด้วย และได้ลงชื่อรับทราบข้อความในใบเสร็จรับเงินซึ่งมีว่า “โปรดทราบ รถที่ท่านนำมาจอดบริเวณปั๊มนี้ ต้องนำกุญแจรถกลับไปด้วย เพราะทางร้านให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถ ฉะนั้น ทางร้านไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถและสิ่งของใด ๆ ที่มีอยู่ในรถ” ไม่มีการกระทำใด ๆ แสดงให้เห็นว่า เจ้าของรถยนต์หรือผู้นำรถยนต์ไปจอดได้ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลย และจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษารถยนต์ที่นำไปจอดนั้นไว้ในอารักขาของจำเลย แล้วจำเลยจะคืนให้เจ้าของรถยนต์หรือผู้นำรถยนต์ไปจอดในปั๊มของจำเลย ก็ได้ทราบเจตนาของจำเลยอยู่แล้วตามข้อความในใบเสร็จรับเงินว่า จำเลยไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถยนต์และสิ่งของใด ๆ ที่อยู่ในรถ เพราะจำเลยให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถยนต์…”

จ. อื่นๆ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2526

ผู้นำรถยนต์เข้าไปจอดไว้ที่สวนสัตว์ดุสิตของจำเลยจะต้องขับรถผ่านประตูเข้าไปหาที่จอดเอาเองและเป็นผู้เก็บกุญแจรถไว้ จำเลยเพียงแต่จัดที่จอดรถไว้ มิได้จัดพนักงานเฝ้าดูแลรถยนต์ที่นำมาจอด พนักงานของจำเลยมิได้ขับรถยนต์ไปหาที่จอดให้และมิได้เก็บกุญแจรถไว้ เมื่อจะกลับผู้ครอบครองรถยนต์จะต้องขับรถออกไปจากที่จอดเอง และเงินที่พนักงานของจำเลยเรียกเก็บเมื่อนำรถยนต์เข้าไปในสวนสัตว์ก็เป็นค่าธรรมเนียมผ่านประตูไม่ใช่บำเหน็จค่าฝาก การที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยฉีกหรือตรวจบัตรจอดรถยนต์ตอนนำรถออกจากสวนสัตว์ เป็นเพียงมาตราการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับฝากรถยนต์ที่นำเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้รับฝาก โดยแสดงรายละเอียดในฟ้องว่า พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ที่รับฝากไว้ได้ละเลยหน้าที่ปล่อยให้คนร้ายลักรถยนต์ไปจากบริเวณที่จอดรถของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก ปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้รับฝากเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ไป ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องละเมิดไว้ ฟ้องโจทก์จึงมีแต่เรื่องผิดสัญญาฝากทรัพย์ เรื่อง พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยกระทำละเมิดจึงไม่เป็นประเด็นในคดี โจทก์จะขอให้จำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยได้กระทำไปหาได้ไม่

หมายเหตุ คดีนี้ไม่มีการฝากกุญแจไว้ จึงไม่เป็นฝากทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เช่าที่จอดรถยนต์ (ไม่มีการเก็บค่าบริการ การจอดรถยนต์ ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โจทก์กับจำเลย ไม่ได้ทำสัญญาต่อกัน ศาลจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดสัญญานอกจากนั้นโจทก์ ไปฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ ศาลชั้นต้นเลยไม่กำหนดประเด็นเรื่องละเมิดไว้ ศาลฎีกาจึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในเรื่องละเมิดให้โจทก์

คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534

จำเลยยินยอมให้ลูกค้านำรถยนต์มาจอดในบริเวณที่ว่างในสถานีบริการน้ำมันทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต้ถ้านำรถยนต์ออกจากที่จอดหลังเวลา 6 นาฬิกา จะต้องเสียเงินคันละ 10 บาท การนำรถยนต์มาจอดหรือเอาออกไปไม่ต้องบอกใคร กรณีมีการเก็บเงินพนักงานของจำเลยจะมาเก็บ เมื่อ ส. นำรถยนต์มาจอด ล็อกประตูแล้วเก็บกุญแจไว้เองมิได้ส่งมอบให้พนักงานของจำเลย การครอบครองรถยนต์ระหว่างที่จอดยังอยู่ในความครอบครองของ ส. แม้จะมีการเก็บเงินค่าจอดหรือค่าบริการก็ไม่เป็นการฝากทรัพย์

หมายเหตุ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “… แม้พนักงานของจำเลยทั้งสองจะมาดูขณะนาย ส. จะนำรถเข้ามาจอดก็เป็นเพียงดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น มิได้รับมอบการครอบครองรถยนต์ แม้จะเก็บเงินค่าจอดหรือค่าบริการก็ไม่เป็นการฝากทรัพย์จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ”
อนึ่ง ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2526 และ คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534 มีประเด็นขึ้นศาลเพียงประเด็นเดียวคือ เรื่อง ฝากทรัพย์ นอกจากนั้น คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534 ในย่อคำพิพากษาฎีกา ไม่ปรากฏว่า จำเลยต่อสู้เรื่องเช่าทรัพย์แต่อย่างใด แม้จะมีการเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ด้วยก็ตาม

สรุป

แม้คำพิพากษาฎีกาที่ยกมานั้นไม่อาจสรุปเป็นเด็ดขาดว่า ศาลฎีกาถือเอาการส่งมอบกุญแจ จะทำให้เกิดสัญญาฝากทรัพย์ แต่หากสังเกตให้ดีแล้ว ศาลยึดเอาเรื่องส่งมอบกุญแจเป็นสำคัญ เว้นเสียแต่ว่า มีพฤติกรรมอย่างอื่นแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ( เช่าที่จอดรถยนต์ ) ดังนั้นจึงขอสรุปเป็นข้อดังนี้
1. ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ ทั้งนี้จะเสียค่าบริการ ( บำเหน็จค่าฝาก ) หรือไม่ก็ตาม หากรถยนต์หาย เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วหรือ เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ( สุดวิสัยจะป้องกัน ) หรือเป็นเพราะรถยนต์นั้นเองหรือเป็นความผิดของผู้ฝากนั้นเอง
อนึ่ง ในปัจจุบันทางห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักจะมีบริการที่เรียกว่า Valet Parking ซึ่งการบริการนี้ ลูกค้าของห้างดังกล่าวจะมอบกุญแจรถยนต์ของตนให้พนักงานของห้างสรรพสินค้า เพื่อนำรถยนต์ไปจอดตามจุดที่กำหนด เมื่อลูกค้าจะกลับ พนักงานก็จะขับรถยนต์นำมาให้ลูกค้าที่ทางออก เช่นนี้สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ หากสถานประกอบการอื่นทำเช่นนี้ ก็สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์เช่นเดียวกัน
2. ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ แต่ต้องเสียค่าบริการด้วย มิเช่นนั้นไม่อาจเป็นเช่าทรัพย์ได้แต่อย่างใด กรณีนี้ เจ้าของสถานที่ที่เป็นผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดชอบ เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ มีพฤติการณ์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น
2.1 จำเลยซึ่งเป็น เจ้าของสถานที่ มีใบเสร็จรับเงิน มายืนยัน
2.2 มีการตกลงทั้งวาจาหรือหนังสือว่าเป็นการเช่า ( ที่จอดรถยนต์ )
2.3 มีป้ายแสดงอย่างเด่นชัดว่า เป็นการเช่าที่จอดรถยนต์ และ ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดความการสูญหายหรือบุบสลายต่อตัวรถยนต์
2.4 นอกจากตัว โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ (หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ) เองแล้ว โจทก์ ไม่มีพยานคนอื่นมายืนยันว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องฝากทรัพย์ แต่หลักฐานฝ่ายจำเลยกลับแสดงได้ว่าเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ตามนัย คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2521
3. ไม่ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์
ไม่ส่งมอบกุญแจ ตามปกติน่าจะเป็นเรื่องการเช่าที่จอดรถยนต์มากกว่า หากเสียค่าบริการ แต่หากมีพฤติการณ์เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ศาลมักจะตัดสินว่า เป็น สัญญาฝากทรัพย์ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่า ใบเสร็จรับเงิน หรือป้ายคำประกาศจะกล่าวว่า ให้เช่าที่จอดรถยนต์ ก็ตาม
ตรงนี้สำคัญมาก ฝ่ายโจทก์ต้องหาผู้ใช้บริการคนอื่นมาเป็นพยานเพื่อเพิ่มน้ำหนักในเรื่องนี้ หากไม่มีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องเช่าทรัพย์
4. ไม่ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องเช่าทรัพย์
ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้ แต่ต้องมีการเสียค่าบริการ ( ค่าเช่า ) ด้วย สัญญาเช่าทรัพย์จึงจะเกิด นอกจากนั้น จำเลยหรือฝ่ายเจ้าของสถานที่ต้องมีหลักฐานอื่นมาแสดงด้วย เช่น ป้ายประกาศ ใบเสร็จรับเงินว่าเป็นเรื่องเช่าที่จอดรถยนต์ เป็นต้น

2. ละเมิด

จะเห็นว่า กรณีดังกล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องของสัญญา ซึ่งจะต้องมีการตกลงกันทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่สัญญา ซึ่งในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นในกรณีของ การนำรถยนต์เข้าไปจอดในลานจอดรถยนต์ของห้างสรรพสินค้าต่างๆ หรือ ตามโรงแรม ซึ่งเราเข้าไปสัมมนา หรือ รับประทานอาหาร บางทีเราอาจต้องเสียค่าจอดด้วย หรือบางทีเราก็ได้ใบจอดรถยนต์ มาไว้เพียงอย่างเดียวโดยไม่เสียค่าจอด เป็นต้น เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องของสัญญาแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อไม่เสียค่าจอด เมื่อรถยนต์หาย เราจะฟ้องเรื่องผิดสัญญา เช่น ผิดสัญญาฝากทรัพย์ไม่ได้ ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2526 เป็นต้น เมื่อไม่ใช่สัญญา ก็เหลือแต่เรื่องละเมิด เท่านั้นที่เราจะบังคับเอากับเจ้าของสถานที่

การบังคับด้วยกฎหมายละเมิดนั้น ขณะนี้มีเพียงมาตราเดียวที่จะนำมาใช้คือ มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 420 นี้ เป็นความรับผิดชอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความผิดชอบของบุคคล ( Liability based on Fault ) กล่าวคือ การกระทำโดย จงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และ ประมาทเลินเล่อ ( อย่างธรรมดา )
นอกจากการกระทำแล้วยังรวมถึง การละเว้นกระทำการ ดังกล่าวด้วย แต่จะเป็นการละเว้นกระทำการนั้น จะต้องมีหน้าที่เสียก่อน กล่าวคือ ละเว้นกระทำการตามหน้าที่นั่นเอง หากไม่มีหน้าที่กระทำแล้ว ย่อมไม่เรียกว่า ละเว้นกระทำการ

นอกจากการกระทำแล้วยังรวมถึง การละเว้นกระทำการ ดังกล่าวด้วย แต่จะเป็นการละเว้นกระทำการนั้น จะต้องมีหน้าที่เสียก่อน กล่าวคือ ละเว้นกระทำการตามหน้าที่นั่นเอง หากไม่มีหน้าที่กระทำแล้ว ย่อมไม่เรียกว่า ละเว้นกระทำการ

โปรดติดตาม ตอน 3

หมยเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของข้อเขียนชิ้นนี้

แบ่งปันบทความนี้